ด่านศุลกากรระนอง
Ranong Customs House
 

ด่านศุลกากรกระบุรีรำลึก

อาคารด่านศุลกากรกระบุรี พ.ศ. ๒๔๘๐ - พ.ศ. ๒๔๙๔

รำลึก ด่านศุลกากรกระบุรี จังหวัดระนอง

ด่านศุลกากรกระบุรี ด่านศุลกากรในอดีตที่เป็นด่านฯชายแดนไทย-พม่า อยู่ตรงข้ามกับอำเภอมะริด(Myeik District) เขตตะนาวศรี ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกระบุรี ที่ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ปัจจุบันด่านศุลกากรกระบุรีได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว

จำเดิมก่อนจะเป็นด่านศุลกากรกระบุรี ณ พื้นที่บริเวณนั้นคือ "ด่านตรวจกระบุรี" ซึ่งขึ้นอยู่กับด่านศุลกากรระนอง ตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยมีนายสวัสดิ์ ชมพูทะนะ ตำแหน่ง นายตรวจศุลกากรชั้น ๒ เป็นหัวหน้าด่านตรวจกระบุรี ต่อมาเมื่อการค้าขายสินค้าเข้า-ออกระหว่างไทยกับพม่าเพิ่มมากขึ้น ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔ จึงยกระดับด่านตรวจกระบุรีตั้ง "ด่านศุลกากรกระบุรี" จังหวัดระนอง ให้เป็นเขตศุลกากรนอกจากท่ากรุงเทพฯ ในลำดับที่ ๒๓ แห่ง "กฎเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กำหนดและให้อนุมัติ ท่า ที่ และเขตต์ศุลกากร เพื่อการนำของเข้า และการส่งของออก" กฎให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๔ แต่กระนั้นในช่วงแรกด่านศุลกากรกระบุรีก็ยังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของด่านศุลกากรระนองอยู่ เนื่องจากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับการคมนาคมที่ไม่สะดวก ต้องเดินทางเฉพาะทางเรือเท่านั้น ครั้งนั้นด่านศุลกากรระนองจึงมอบหมายให้นายสวัสดิ์ ชมพูทะนะ ทำหน้าที่นายด่านศุลกากรกระบุรีเป็นคนแรกต่อไป ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้สร้างที่ทำการด่านศุลกากรกระบุรีแทนหลังเดิมเป็นเรือนไม้มีใต้ถุนสูง ด้วยเงิน ๕๐๐ บาท ในสมัยที่ขุนอาทรศุงกกิจเป็นนายด่านศุลกากรระนอง

ในปีถัดจากนั้น "กฎกระทรวงการคลัง ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉะบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐" กฎให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ บัญชีหมาย ก ลำดับที่ ๓๔ ได้กำหนดเขตศุลกากรของ ท่าหรือที่กระบุรี จังหวัดระนอง (เดิมราชกิจจานุเบกษาพิมพ์ผิดเป็นจังหวัด ระยอง จึงออกประกาศบอกแก้เป็น ระนอง ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๑) คือ

"เขตต์ศุลกากร" แม่น้ำกระบุรีภายในระหว่างเขตต์ต่อไปนี้
ด้านเหนือ จากเสาหินหมาย "ศุลกากร ๑" เหนือด่านศุลกากรเป็นเส้นฉากตามฝั่งแม่น้ำไปจดกลางแม่น้ำกระบุรี
ด้านใต้ จากเสาหินหมาย "ศุลกากร ๒" ใต้ด่านศุลกากร เป็นเส้นฉากตามฝั่งแม่น้ำไปจดกลางแม่น้ำกระบุรี"

และยังได้กำหนด "ลักษณการที่ให้กระทำ" และ "ประเภทของ" ไว้ดังนี้

"๑. นำของเข้า - ของทุกประเภท เว้นไว้แต่
(๑) ของต้องกำกัด
(๒) สุรา รวมทั้งเบียร์ ไวน์ และน้ำหอม
(๓) ผลเกิดจากเฆมี
(๔) ยาบำบัดโรคทุกชนิด เว้นไว้แต่สมุนไพร
แต่ของที่ระบุไว้นี้ ถ้าผู้โดยสารมีติดตัวเข้ามาเป็นของส่วนตัว ก็นำเข้าได้ภายในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยของนั้น ๆ

๒. ส่งของออก - ของทุกประเภท เว้นไว้แต่ของต้องกำกัด"

สำหรับนายสวัสดิ์ ชมพูทะนะ ได้ทำหน้าที่นายด่านฯ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ด่านศุลกากรระนองจึงแต่งตั้ง นายมโน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรศุลกากรกระบุรี จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ นายมโนฯ เสียชีวิตเนื่องมาจากอุบัติเหตุเรือชนกับเรือตรวจลำน้ำของนายอำเภอและคณะนายทหารขณะเดินทางกลับจากราชการที่ด่านศุลกากรระนอง นายเฉลิม โอสถานนท์ นายด่านศุลกากรระนองในขณะนั้นจึงได้แต่งตั้ง นายวิมล โศจิรัตน์ ไปดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรกระบุรีแทน และในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้ทำการขยายต่อเติมตัวด่านศุลกากรกระบุรีเดิมรวมทั้งทำหลังคาขึ้นใหม่ เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๐,๘๐๐ บาท

จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ม.ร.ว. ทองแท่ง ทองแถม อธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมด่านศุลกากรกระบุรี เห็นว่าตัวด่านฯเดิมมีขนาดเล็กและพื้นที่ก็คับแคบ ประกอบกับมีพื้นที่ลุ่ม รกร้าง ที่ชาวประมงใช้เป็นที่ตากปลาและอยู่ห่างจากที่ทำการเดิมประมาณ ๒๐๐ เมตร จึงบัญชาให้ซื้อที่บริเวณนั้นจำนวน ๒ แปลงติดกัน รวมพื้นที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๙๘ ตารางวาด้วยเงินจำนวน ๑๙,๕๕๐ บาท และได้ทำการก่อสร้างที่ทำการด่านศุลกากรกระบุรีหลังใหม่ตรงบริเวณนั้นโดยการออกแบบของกรมศิลปากรเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ด้วยเงินงบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท มีนายอากาศ เกิดสมบุญ นายด่านศุลกากรกระบุรีขณะนั้นเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔

หลังจากนั้นได้มี "กฎกระทรวง ฉบับที่ ๘๓ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙" ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ แก้ไขลักษณะการที่ให้กระทำของด่านศุลกากรกระบุรีเป็นให้ นำของเข้า - ส่งของออก - ส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บน ได้ ทุกประเภท

สุดท้ายเมื่อการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศที่กระบุรีในแต่ละปีมีปริมาณน้อย เป็นผลให้ปริมาณงานของด่านฯน้อยตามไปด้วย และไม่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีด่านศุลกากรระนองที่สามารถดูแลได้โดยไม่มีผลกระทบต่องานด้านบริการและงานป้องกันและปราบปราม จึงมี "กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙" ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ยกเลิกด่านศุลกากรกระบุรี เพื่อจะได้นำอัตรากำลังของด่านฯไปสนับสนุนงานด้านอื่น และกรมศุลกากรได้คืนอาคารรวมทั้งสถานที่ด่านศุลกากรกระบุรีให้แก่กรมธนารักษ์ไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เหลือไว้เพียง อาคารบ้านพักข้าราชการระดับ ๕-๖ จำนวน ๑ หลัง บนพื้นที่ ๗๔ ตารางวา ให้อยู่ในความดูแลของด่านศุลกากรระนองเพื่อใช้เป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ไปปฏิบัติงานในท้องที่อำเภอกระบุรีจวบจนปัจจุบัน


 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 12 กุมภาพันธ์ 2562 10:39:42
จำนวนผู้เข้าชม : 2,891
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ด่านศุลกากรระนอง
เลขที่ 90/221 ถนนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง 85000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7782-4872-3

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของด่านศุลกากรระนอง - สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1
ลิขสิทธิ์ 2018 ด่านศุลกากรระนอง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ