ด่านศุลกากรระนอง
Ranong Customs House
 

ภารกิจและพื้นที่รับผิดชอบ

ภารกิจและหน้าที่ของด่านศุลกากรระนอง

ด่านศุลกากรระนอง มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๘ ภายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้

๑. ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากร การจัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่นสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออก และของติดตัวผู้โดยสาร การคืนอากรที่มิใช่กรณีตามมาตรา ๑๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งการควบคุมและตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออก สินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และของติดตัวผู้โดยสารตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

๒. ดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน และเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตประกอบการเสรี (เขตอุตสาหกรรมส่งออก) ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

๓. สืบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเกี่ยวกับการทบทวนเอกสารต่างๆ หลังผ่านพิธีการทางศุลกากร

๔. ดำเนินการเกี่ยวกับคดีทางศุลกากร ของกลางและของตกค้างที่อยู่ในความรับผิดชอบ

๕. วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกซึ่งสินค้าและของติดตัวผู้โดยสาร รวมทั้งจัดทำประเมินผลพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลด้านศุลกากรเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยง

๖. ประสานงาน ให้ความร่วมมือ และให้คำปรึกษาแนะนำในการอำนวยความสะดวก ด้านการค้าชายแดน

๗. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย การบริการด้านพิธีการศุลกากรของด่านศุลกากรระนอง

ด่านศุลกากรระนองให้บริการด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้า-ส่งออก ตามกฎกระทรวงการคลัง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๒ ลำดับที่ ๒๒ และข้อ ๓ ลำดับที่ ๑๘ ดังนี้

  • นำเข้าของทุกประเภท
  • ส่งออกของทุกประเภท
  • ส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บนทุกประเภท

ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว ทั้งการนำเข้าและส่งออก ตลอดจนใบขนสินค้าที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

พื้นที่รับผิดชอบของด่านศุลกากรระนอง

สืบเนื่องจาก กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๓ (๒) และ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดและแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.๒๕๕๑ ข้อ ๑(๕) กำหนดให้ ด่านศุลกากรระนองรับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๔๑,๒๕๐ ไร่

เขตศุลกากรของด่านศุลกากรระนอง

กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๒ ลำดับที่ ๒๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๗ ตอนที่ ๒๖ ก วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ ได้กำหนดให้เขตศุลกากรของด่านศุลกากรระนอง เป็นเช่นเดิมตามกฎกระทรวงการคลัง ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉะบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ ตามบัญชีหมาย ก ลำดับที่ ๔ (ในสมัยนั้น ด่านศุลกากรระนอง ยังตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๕ ตำบลปากน้ำ ซึ่งก็คือท่าเรือบ้านปากน้ำในปัจจุบัน) ดังนี้

"ด้านเหนือ จากเสาหินตรงข้ามด่านศุลกากร เป็นเส้นตรงไปจดเสาหินที่ตาหินดำ เป็นเส้นตรงไปจดประภาคารเกาะผี จากประภาคารเกาะผีเป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกจดทะเลเวลาน้ำลงงวดลึก ๑๖ เมตร ด้านตะวันออก จากเสาหินบนเกาะเหลา เป็นเส้นตรงไปจดเสาหินตรงข้ามด่านศุลกากร
ด้านใต้ จากเสาหินบนเกาะหม้อ เป็นเส้นตรงไปจดเสาหินบนเกาะเหลา
ด้านตะวันตก จากจุดแนวน้ำลึก ๑๖ เมตรที่กล่าวในด้านเหนือ เป็นเส้นตรงไปจดเสาหินบนเกาะหม้อ"

นอกจากนี้ กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. ๒๕๕๓ ในข้อ ๓ ลำดับที่ ๑๘ ก็ยังกำหนดให้ สนามบินระนอง ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นสนามบินศุลกากร และ บริเวณสนามบินระนอง เป็น เขตศุลกากร อีกด้วย

อนึ่ง คำว่า "เขตศุลกากร" นั้นถูกกำหนดขึ้นตามมาตรา ๔(๓) แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙

มาตรา ๔ เพื่อความประสงค์แห่งการนำของเข้าหรือส่งของออกหรือนำของเข้าและส่งของออกและการศุลกากรให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง
(๑) กำหนดท่าหรือที่ใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นท่าหรือที่สำหรับการนำเข้า หรือส่งออกหรือนำเข้าและส่งออกซึ่งของประเภทใด ๆ หรือทุกประเภททางทะเลหรือทางบก หรือให้เป็นท่าหรือที่สำหรับการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขตามแต่จะเห็นสมควร
(๒) กำหนดสนามบินใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นสนามบินศุลกากรโดยมีเงื่อนไขตามแต่จะเห็นสมควร
(๓) ระบุเขตศุลกากร ณ ท่าใด หรือที่ใด หรือสนามบินใดซึ่งได้กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น

"เขตศุลกากรมีความสำคัญต่อกิจการศุลกากรเป็นอันมาก เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นว่าการนำของเข้าหรือส่งของออกเป็นอันสำเร็จเมื่อไร ก็ต้องพิสูจน์จากข้อเท็จจริงที่ว่าเรือซึ่งบรรทุกของนั้นได้เข้ามาถึงเขตศุลกากร หรือออกพ้นไปจากเขตศุลกากรแล้วหรือไม่ กฎหมายศุลกากรมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๖ ใช้คำว่า เขตท่า ซึ่งหมายถึงท่าเพื่อการนำเข้าและส่งออก คำว่า เขตท่า นี้จึงเป็นคำเดียวกับคำว่า เขตศุลกากร ความสำคัญที่เห็นได้ชัดได้แก่ความรับผิดในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของนำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ (มาตรา ๑๐ ทวิ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙) คือเกิดขึ้นในเวลาที่ยานพาหนะซึ่งบรรทุกของนั้นได้เข้าถึงเขตศุลกากร
คำว่าเขตศุลกากรหรือที่เรียกว่าเขตท่าเพื่อการนำเข้าและส่งออก อย่านำไปใช้ปะปนกับคำว่าเขตท่าเพื่อการขนถ่ายและบรรทุก เพราะนั่นเป็นเพียงเขตของทำเนียบท่าเรืออนุมัติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายศุลกากรภายในเขตศุลกากร และอย่าใช้สับสนกับเขตจอดเรือตามความใน พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ เพราะต่างก็กำหนดเขตไว้ด้วยเหมือนกัน สำหรับด่านศุลกากรทางบก ไม่ปรากฏว่าได้กำหนดเขตศุลกากรไว้เป็นพิเศษในกฎกระทรวง ทั้งนี้อาจเนื่องจากมีทางอนุมัติและด่านพรมแดนจำกัดขอบเขตอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี กรมศุลกากรได้ประกาศเขตจอดเรือ ณ ด่านศุลกากรหลายด่านซึ่งต้องอยู่ริมแม่น้ำโขงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๘๐ เขตที่อธิบดีศุลกากรประกาศนี้มิใช่เป็นอย่างเดียวกันกับเขตศุลกากรที่กล่าวข้างต้น" (จากหนังสือ "คำบรรยายกฎหมายศุลกากร" โดย ประพันธ์ เนตรนพรัตน์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามเจริญพานิช. ๒๕๒๒, หน้า ๒๖-๒๗)

ความสำคัญของการระบุเขตศุลกากร ณ ท่า (เขตท่า) หรือที่ ตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙

(๑) ความรับผิดในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ตามมาตรา ๑๐ทวิ ประกอบมาตรา ๔๑
(๒) ความรับผิดในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่ส่งออกเกิดขึ้นในเวลาที่ส่งออกสำเร็จ ตามมาตรา ๑๐ตรี ประกอบมาตรา ๔๖
(๓) พนักงานศุลกากรอาจตรวจค้นบุคคลใด ๆ ในเรือกำปั่นลำใด ๆ ในเขตท่า หรือบุคคลที่ขึ้นจากเรือกำปั่นลำใด ๆ ก็ได้ ตามมาตรา ๑๘
(๔) เรือขนถ่ายสิ่งของใด ๆ ในทะเลนอกเขตท่าโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ นายเรือหรือบุคคลใดฝ่าฝืนมีความผิด และให้ริบของใดๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรานี้ด้วย ตามมาตรา ๒๗ ตรี
(๕) นายเรือต้องรับผิด ถ้าปรากฏว่าเรือลำใดอยู่ในเขตท่ามีสินค้าในเรือ และภายหลังมาปรากฏว่าเรือลำนั้นเบาลอยตัวขึ้น หรือมีแต่อับเฉาและนายเรือไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่าได้ขนสินค้าขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๒๘


 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 12 กุมภาพันธ์ 2562 09:39:52
จำนวนผู้เข้าชม : 3,974
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ด่านศุลกากรระนอง
เลขที่ 90/221 ถนนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง 85000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7782-4872-3

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของด่านศุลกากรระนอง - สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1
ลิขสิทธิ์ 2018 ด่านศุลกากรระนอง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ