ด่านศุลกากรระนอง
Ranong Customs House
 

ประวัติด่านศุลกากรระนอง

ด่านศุลกากรระนอง เป็นด่านศุลกากรทางทะเลด้านทะเลอันดามัน ในอดีตเป็น "ด่านภาษีเมืองระนอง" สังกัดกรมสรรพากรนอก กระทรวงมหาดไทย ครั้นเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๘ ได้มีการยกกรมสรรพากรนอก มาขึ้นกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และรวมกับกรมสรรพากรใน เป็นกรมเดียวกันเรียกว่า "กรมสรรพากร" ด่านภาษีเมืองระนอง จึงมาขึ้นกับกรมสรรพากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้มี "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด" ด่านภาษีเมืองระนองจึงเปลี่ยนมาเป็น "ด่านภาษีจังหวัดระนอง" จนเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้มีการโอนด่านภาษีจังหวัดระนองจากกรมสรรพากรมาขึ้นกับกรมศุลกากรและตั้งเป็น "ด่านศุลกากรจังหวัดระนอง" โดยมีขุนประพัฒน์ศุภผล เป็นนายด่านฯท่านแรก ภายหลังเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ จึงมี "กฎเสนาบดี กำหนดและให้อนุมัติท่า ที่ และเขตรศุลกากร เพื่อการนำของเข้าและการส่งของออก ให้ไว้แต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙" กำหนดให้ท่าระนองเป็นเขตศุลกากรนอกจากท่ากรุงเทพฯ ขึ้นกับศุลกากรมณฑลภูเก็ต ต่อจากนั้นได้มี "กฎเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กำหนดและให้อนุมัติ ท่า ที่ และเขตต์ศุลกากร เพื่อการนำของเข้าและการส่งของออก ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๔" ยกเลิกกฎเสนาบดีฉบับเดิม และกำหนดให้ท่าระนอง จังหวัดระนอง เป็นเขตศุลกากรนอกจากท่ากรุงเทพฯ กระทั่งได้มีการตราพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉะบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐ มาแก้ไขมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ จึงออก "กฎกระทรวงการคลัง ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉะบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑" โดยใน บัญชีหมาย ก ลำดับที่ ๔ ได้กำหนดเขตศุลกากรและลักษณะการที่ให้กระทำของท่าระนอง จังหวัดระนอง ให้สามารถนำของเข้าและส่งของออกได้ทุกประเภท รวมทั้งส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บนได้ทุกประเภท และเปลี่ยนมาเรียกว่า "ด่านศุลกากรระนอง"

แต่เดิมที่ทำการด่านศุลกากรระนองเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำระนอง (ที่ตรงนั้นปัจจุบันได้สร้างเป็น ท่าเรือบ้านปากน้ำ ที่หมู่ที่ ๕ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง) ต่อมากรมศุลกากรได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณจำนวน ๑,๑๔๒,๐๐๐ บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างด่านศุลกากรระนองแห่งใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวยกพื้นสูงพร้อมสิ่งปลูกสร้างประกอบ บนที่ราชพัสดุพื้นที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๕๖.๗๐ ตารางวา ที่ปากน้ำระนอง ฝั่งตรงข้ามกับตัวด่านฯเดิม ณ ถนนสะพานปลา(ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ว่า "ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓) หมู่ที่ ๑ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เปิดใช้เป็นที่ทำการด่านศุลกากรระนองเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างบ้านพักข้าราชการด่านศุลกากรระนอง ขึ้นบนที่ราชพัสดุ พื้นที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๖๗.๙๐ ตารางวา ที่ ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จึงได้รื้ออาคารคอนกรีตชั้นเดียวที่เป็นที่ทำการด่านฯ และสร้างอาคารฯหลังใหม่เป็นคอนกรีตสองชั้นตรงที่เดิม ด้วยเงินงบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จำนวน ๕,๓๒๖,๘๐๐ บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ และใช้เป็นที่ทำการด่านศุลกากรระนองมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้นเอง "กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙" ก็ได้กำหนดให้ สนามบินระนอง จังหวัดระนอง เป็นสนามบินศุลกากร เพื่อให้อากาศยานไทยและอากาศยานระหว่างประเทศขึ้นลงและมีการนำของเข้าหรือส่งของออกทางสนามบินได้ และให้อยู่ในความรับผิดชอบของด่านศุลกากรระนองด้วย

ปัจจุบันได้มี "กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. ๒๕๕๓" โดยปรับปรุงจากกฎกระทรวงที่กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร ทั้งหมด มารวมไว้ในกฎกระทรวงฉบับเดียวกัน โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับด่านศุลกากรระนองคือ ในขัอ ๒ ลำดับที่ ๒๒ และ ข้อ ๓ ลำดับที่ ๑๘

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 11 กุมภาพันธ์ 2562 14:49:19
จำนวนผู้เข้าชม : 12,676
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ด่านศุลกากรระนอง
เลขที่ 90/221 ถนนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง 85000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7782-4872-3

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของด่านศุลกากรระนอง - สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1
ลิขสิทธิ์ 2018 ด่านศุลกากรระนอง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ