ด่านศุลกากรระนอง
Ranong Customs House
 

จุดนำเข้า-ส่งออก และ จุดผ่านแดน

๑. จุดนำเข้า - ส่งออก (Point of Import and Export)
เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมของหรือสินค้าที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งอาจส่งผ่านได้ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางทะเล ทางอากาศยาน หรือทางไปรษณีย์ โดยจุดที่จะนำเข้า-ส่งออกนั้นถูกกำหนดขึ้นตาม มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ ปัจจุบันจุดนำเข้า-ส่งออก (Point of Import and Export) ของประเทศไทย ได้แก่ ท่าหรือที่ ๔๘ แห่ง และ สนามบินศุลกากร ๒๘ แห่ง [ตามที่กำหนดในข้อ ๒ และข้อ ๓ ของ กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕, กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕, กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕, กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๖, กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ฯ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๖ และ กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ฯ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๖] กับ "ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพ" ซึ่งเป็นจุดนำเข้า-ส่งออกของทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศอีก ๑ แห่ง รวมจุดนำเข้า-ส่งออก ทั้งสิ้น ๗๗ จุด สำหรับจังหวัดระนองมีจุดนำเข้า-ส่งออกอยู่ด้วยกัน ๒ จุด คือ ท่าระนอง และ สนามบินระนอง (ตามกฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๒ ลำดับที่ ๒๒ และ ข้อ ๓ ลำดับที่ ๑๘) โดยทั้งสองจุดอยู่ในความรับผิดชอบของด่านศุลกากรระนอง

๒. ช่องทางอนุญาตให้บุคคลเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (Point of Entry and Exit: PoE)
การนำเข้า-ส่งออกของระหว่างประเทศนั้น อาจต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ ปัจจุบันช่องทางที่อนุญาตให้บุคคลเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีด่านตรวจคนเข้าเมืองอยู่ ๘๐ แห่งด้วยกันตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง และช่องทางให้บุคคลเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร และกำหนดให้บุคคลหรือยานพาหนะที่จะเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง โดยในส่วนของจังหวัดระนองมีด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง (ลำดับ ๗๐) ดูแลช่องทางอนุญาตบริเวณเขตท่าเรือระนองและเขตท่าเรือกระบุรี กับด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานระนอง (ลำดับ ๗๑) ดูแลช่องทางอนุญาตบริเวณเขตท่าอากาศยานระนอง

๓. จุดผ่านแดน
หากช่องทางอนุญาตให้บุคคลเข้า-ออกดังกล่าวข้างต้นเป็นเขตแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงมหาดไทยอาจกำหนดให้เป็น "จุดผ่านแดนถาวร" อีกด้วย และหากมีเหตุผลที่จะเดินทางเข้า-ออกกับประเทศเพื่อนบ้านในจุดที่มิใช่ช่องทางอนุญาตฯ ก็อาจขอเปิดเป็นจุดผ่านแดนชั่วคราวหรือจุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ดังนี้

๓.๑ ประเภทของจุดผ่านแดนบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

๓.๑.๑ จุดผ่านแดนถาวร
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศ นักท่องเที่ยว และยานพาหนะ สามารถสัญจรไปมาเพื่อการค้า การท่องเที่ยว และอื่น ๆ โดยได้รับความเห็นชอบจาก รัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทยตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และจะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้เป็นไปตาม มาตรา ๑๑ และ มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒

๓.๑.๒ จุดผ่านแดนชั่วคราว
เป็นการเปิดเพื่อผ่อนผันให้มีการผ่านแดนได้ เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะภายในห้วงเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนเฉพาะกิจ ไม่มีผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัย เมื่อครบกำหนดเวลา หรือบรรลุวัตถุประสงค์แล้วจะปิดจุดผ่านแดนทันที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิดจุดผ่านแดนของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้เป็นไปตาม มาตรา ๑๑ และ มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ปัจจุบันมีประกาศเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพียงจุดเดียว คือ จุดผ่านแดนชั่วคราวบริเวณด่านพระเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้า-ออกได้เฉพาะเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น

๓.๑.๓ จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า
มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านด้านมนุษยธรรมและส่งเสริมความสัมพันธ์ของประชาชนในระดับท้องถิ่น เพื่อการผ่อนปรนให้มีการค้าขายสินค้าอุปโภค - บริโภค และยารักษาโรคที่จำเป็น ซึ่งระดับท้องถิ่นของทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกัน ทั้งนี้ การประกาศเปิดจุดผ่อนปรนเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยก่อนด้วย ทั้งนี้เป็นไปตาม มาตรา ๑๓ (๒) แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒

๓.๒ จุดผ่านแดนในจังหวัดระนอง จังหวัดระนองมีจุดผ่านแดนดังนี้

๓.๒.๑ จุดผ่านแดนถาวร

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ เปิดจุดผ่านแดนถาวร บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ตรงข้ามเมืองเกาะสอง ประเทศสหภาพพม่า ระหว่างเวลา ๐๖.๓๐ - ๑๘.๓๐ น. ตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปิดจุดผ่านแดนถาวรด้าน จังหวัดเชียงราย ตาก และระนอง ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งต่อมาได้ขยายเวลาเปิด-ปิด จุดผ่านแดนถาวรดังกล่าวออกไปเป็นเวลา ๐๖.๓๐ - ๒๔.๐๐ น. ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงเวลาเปิดจุดผ่านแดนถาวรจังหวัดระนอง ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๓)

ต่อจากนั้น จังหวัดระนอง ได้มีหนังสือที่ รน ๐๐๑๗.๓/๑๒๕๘๔ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า จังหวัดระนองได้กำหนดช่องทางซึ่งเป็นจุดตรวจผู้เดินทางสำหรับจุดผ่านแดนถาวรจังหวัดระนองไว้เป็น ๓ จุด และมีประกาศจังหวัดระนองเรื่อง เปิดจุดตรวจของจุดผ่านแดนถาวรระนอง - เกาะสอง บริเวณท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ กำหนดจุดตรวจเพิ่มอีก ๑ จุด รวมจุดตรวจผู้เดินทางของจุดผ่านแดนถาวรด้านจังหวัดระนองทั้งหมด ๔ จุด ดังนี้

(๑) จุดตรวจบริเวณท่าเทียบเรือสะพานปลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
(๒) จุดตรวจบริเวณปากน้ำระนอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
(๓) จุดตรวจบริเวณท่าเทียบเรือ บริษัท อันดามันคลับ จำกัด ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

๓.๒.๒ จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า

จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนของจังหวัดระนองมีเพียง ๑ จุด ตามประกาศจังหวัดระนอง เรื่อง การเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย - สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ บ้านเขาฝาชี หมู่ที่ ๔ ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนดังกล่าวเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภค - บริโภค ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. ของทุกวัน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นไป

๔. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมกับค่าทำการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๑๑ บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๓ คนต่างด้าวดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง
(๑) ผู้ควบคุมพาหนะและคนประจำพาหนะทางน้ำหรือทางอากาศซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ ในราชอาณาจักรแล้วกลับออกไปเพื่อประโยชน์ในการควบคุมบุคคลดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือสำคัญตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้ถือไว้ก็ได้
(๒) คนสัญชาติของประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยเดินทางข้ามพรมแดนไปมาชั่วคราว โดยปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศนั้น

มาตรา ๒๓ เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ จะต้องนำพาหนะเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 12 กุมภาพันธ์ 2562 10:39:33
จำนวนผู้เข้าชม : 12,075
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ด่านศุลกากรระนอง
เลขที่ 90/221 ถนนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง 85000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7782-4872-3

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของด่านศุลกากรระนอง - สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1
ลิขสิทธิ์ 2018 ด่านศุลกากรระนอง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ